งานวิจัยชี้สวนแนวตั้งช่วยลดมลพิษบนท้องถนน
โดย Energy Saving วันที่ 19 กรกฎาคม 2555
|
นักวิทยาศาสตร์แนะว่าการสร้างสวนแนวตั้งในพื้นที่ใจกลางเมืองใหญ่ช่วยลดมลพิษทางอากาศได้ถึง 30 เปอร์เซ็นต์
นักวิทยาศาสตร์ชาวอังกฤษ ระบุว่า ยิ่งมีแมกไม้ตามข้างถนนมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งช่วยฟอกอากาศในพื้นที่ที่มีมลพิษทางอากาศในปริมาณสูงมากเท่านั้น โดยพรรณไม้ที่ปลูกในเมืองและในเมืองใหญ่ช่วยลดก๊าซไนโตรเจนออกไซด์ และฝุ่นละออง ซึ่งเป็นอันตรายสุขภาพ
อนึ่ง ศาสตราจารย์ ร็อบ แมคเคนซี ผู้วิจัยร่วม กล่าวว่า นโยบายในการลดมลพิษทางอากาศในปัจจุบันเน้นการปฏิบัติจากบนลงล่าง (Top-down approach) เช่น เลิกใช้รถยนต์คันเก่า ติดตั้งเครื่องฟอกไอเสียเชิงเร่งปฏิกิริยา (Catalytic converter) เรียกจัดเก็บธรรมเนียมค่าใช้ถนนในพื้นที่ที่มีการจราจรหนาแน่น (Congestion charge) ซึ่งบางนโยบายข้างต้นไม่ได้ผลเป็นที่น่าพอใจนัก แต่จากการศึกษาพบว่าสวนแนวตั้งช่วยฟอกอากาศในบริเวณซอกตึกระฟ้าที่อากาศถ่ายเทไม่สะดวก (Street canyon) ได้เป็นอย่างดี
ทั้งนี้ งานวิจัยก่อนหน้านี้ได้แสดงให้เห็นว่าพื้นที่สีเขียวในเมืองช่วยลดมลพิษทางอากาศได้ประมาณ 5 เปอร์เซ็นต์ แต่งานวิจัยชิ้นนี้แสดงให้เห็นว่าการจัดสวนแนวตั้งในพื้นที่ซอกตึกสูงช่วยดูดซับมลพิษในอากาศได้สูงถึง 30 เปอร์เซ็นต์
นิโคลา เชทแฮม หัวหน้ากองวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมจากการขนส่งทางบก สำนักงานขนส่งแห่งกรุงลอนดอน (Transport for London: TfL) กล่าวว่า สำนักงานขนส่งฯ ได้สร้างสวนแนวตั้งแห่งใหม่เพื่อลดปัญหาผลพิษที่เกิดจากไอเสียรถยนต์
ทั้งนี้ ทีมนักวิจัยได้สรุปผลการวิจัยเกี่ยวกับประสิทธิภาพในการลดมลพิษของสวนแนวตั้งโดยใช้แบบจำลองคอมพิวเตอร์ที่แสดงให้เห็นถึงมลพิษที่สะสมอยู่บริเวณซอกตึก ทั้งนี้ทั้งนั้น แบบจำลองคอมพิวเตอร์ยังแสดงให้เห็นว่าแมกไม้ที่ปลูกไว้ริมถนนมีประสิทธิภาพในการช่วยกรองอากาศบนถนนที่มีปริมาณมลพิษเพียงเล็กน้อยเท่านั้น และยังพบว่าไม้ยืนต้นที่ให้ร่มเงา (Canopy tree) ไม่ได้ช่วยดูดซับมลพิษที่ระดับผิวดินเลย
ทอม พูฮ์ ผู้วิจัยร่วมจากมหาวิทยาลัยแลนแคสเตอร์ กล่าวว่า อุปสรรคอย่างหนึ่งในการจัดสวนแนวตั้ง คือ แมกไม้ที่ปลูกต้องทนต่อสภาพอากาศ ซึ่งควรคำนึงถึงวิธีการและสถานที่จะปลูกพรรณไม้เหล่าด้วย และต้องแน่ใจว่าพรรณพืชที่ปลูกจะไม่เหี่ยวเฉา หรือมีศัตรูธรรมชาติจำพวกแมลงและโรคพืชคอยรบกวน
ผลการวิจัยดังกล่าวตีพิมพ์ในวารสาร เอนไวเรินเมนทอล ไซน์ แอนด์ เทคนอลเลอจี (Environmental Science and Technology)
|
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น